ยินดีต้อนรับสู่เว๊ปไซท์ชุมชนบ้านเขาน้ำซับ ทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเว๊ปไซท์นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมและผู้ที่ติดตามข่าวสารของชุมชนหากมีข้อติชมหรือต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขโปรดติดต่อทีมงาน....ขอขอบคุณทุกๆท่าน

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความหมายของชุมชนเข้มแข็ง

ความหมายของชุมชนเข้มแข็ง
เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงต้องเริ่มจากการใช้จุดแข็งในสังคม และทุนทางสังคมที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้มีการให้แนวคิดและความหมายของชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางและการนำไปสู่การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาไว้ดังนี้
ชุมชน หมายถึง กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นปรกติต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการอยู่ในพื้นที่ร่วมกันหรือมีอาชีพร่วมกันหรือการประกอบกิจการซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือการมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) โดยความเป็นชุมชนอาจหมายถึงการที่คนจำนวนหนึ่งเท่าใดก็ได้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสารหรือรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ มีการจัดการ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน (ศ.นพ.ประเวศ วะสี)
จากความหมายข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนมีความหมายมากกว่าการที่คนแต่ละคนมาอยู่ร่วมกัน แต่ได้สร้างความสัมพันธืกันโดยมีหลักการ เงื่อนไข กติกา ซึ่งเราเรียกโดยรวมว่าระเบียบบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกัน ชุมชนจึงมีลักษณะเป็นองค์กรทางสังคมที่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของสมาชิก และสามารถช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกันได้
ความเข้มแข็งของชุมชน จึงหมายถึง การที่ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของเมืองหรือชนบทรวมตัวกันเป็น "องค์กรชุมชน" โดยมีการเรียนรู้ การจัดการแลฃะการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชุมชนแล้วจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนตลอดจนมีผลกระทบสู่ภายนอกชุมชนที่ดีขึ้นตามลำดับโดยจะเรียกชุมชนนี้ว่า กลุ่ม ชมรม สหกรณ์ บริษัท องค์กรชาวบ้าน เครือข่ายหรืออื่น ๆ ที่มีความหมายแสดงถึงการร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และด้วยความเอื้ออาทรต่อชุมชนอื่น ๆ ในสังคมด้วย
ทั้งนี้ องค์กรชุมชน หมายถึง กลุ่มหรือชมรมหรือสหกรณ์หรือในชื่ออื่นใด โดยจะมีการจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม อันเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวด้วยความสมัครใจของประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์และอุดมคติร่วมกัน มีมิตรภาพและความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มีผู้นำตามธรรมชาติเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอาศัยอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยในแต่ละชุมชนจะมีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ มิติทางด้านสังคม และมิติทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น อาจพัฒนาความเข้มแข็งได้เพียงบางมิติเท่านั้น เนื่องจากเงื่อนไขและกระบวนการที่นำไปสู่ความเข้มแข็งในแต่ละมิติของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน
องค์ประกอบของชุมชนเข้มแข็ง
จากการดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภายใต้คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดกรอบองค์ประกอบของชุมชนเข้มแข็งไว้ว่าจะต้องประกอบด้วย 1) บุคคลหลากหลายที่รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม 2) มีเป้าหมายร่วมกันและยึดโยงเกาะเกี่ยวกันด้วยประโยชน์สาธารณะและของสมาชิก 3) มีจิตสำนึกของการพึ่งตนเอง รักและเอื้ออาทรต่อกัน และมีความรักท้องถิ่น รักชุมชน 4) มีอิสระในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำและร่วมรับผิดชอบ 5)มีการระดมใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ 6) มีการเรียนรู้ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและติดต่อสื่อสารกันหลายรูปแบบ 7) มีการจัดทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณะของชุมชนอย่างต่อเนื่อง 8) มีการจัดการบริหารกลุ่มีหลากหลายและเครือข่ายที่ดี 9) มีการเสริมสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายของชุมชนสืบทอดกันตลอดไป


ลักษณะของชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชนที่มีความเข้มแข็งมีลักษณะที่สำคัญดังนี้คือ
1. สมาชิกของชุมชนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนและชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
2. สมาชิกของชุมชนพร้อมที่จะร่วมกันจัดการกับปัญหาของตนและชุมชน
3. มีกระบวนการของชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีของชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของผู้นำองค์กรชุมชน ในลักษณะเปิดโอกาสให้กับสมาชิกทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วม โปร่งใส และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ
4. สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการประเมินสถานการณ์ของชุมชน กำหนดวิสัยทัศน์ร่วม ร่วมคิด ตัดสินใจ ดำเนินงาน ติดตามและประเมินผลการแก้ปัญหาและการพัฒนาของชุมชนผ่านกระบวนการของชุมชน
5. สมาชิกชุมชนเกิดการเรียนรุ้ผ่านการเข้าร่วมในกระบวนการของชุมชน
6. มีแผนของชุมชนที่ประกอบด้วยการพัฒนาทุก ๆ ด้านของชุมชน ที่มุ่งการพึ่งตนเอง เอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกชุมชนทุก ๆ คน และมุ่งหวังการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน
7. การพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก เป็นการพึ่งเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุดไม่ใช่การพึ่งพาตลอดไป
8. มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีการพัฒนา อาจเป็นหมู่บ้านชุมชนอื่น ๆ ท้องถิ่น ภาคราชการ องค์กรเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ และอื่น ๆ ในลักษณะของการมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน




การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเป็นฐานรองรับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันทุกด้าน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงต้องผนึกกำลังดำเนินการเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ด้วยการกระตุ้นและสร้างกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมให้ชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำและมีการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งมีกิจกรรมหลักที่ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ได้แก่
1. การส่งเสริมกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤต โดยพัฒนาศักยภาพให้คนในชุมชนรวมกลุ่มกัน ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรักษาผลประโยชน์ของชุมชนด้วยตนเอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานของบุคลากรภาครัฐจากการเป็นผู้สั่งการเป็นผู้สนับสนุนในการจัดการและแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
2. การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะ "ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้" เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบด้วยกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนได้มีการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาสวัสดิการสังคมและสวัสดิภาพของชุมชน การฟื้นฟูอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน การค้นหาศักยภาพและการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน รวมทั้งการสร้างประชาคมภายในชุมชนและการสร้างเครือข่ายของชุมชน



วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รู้ทัน′โรคไร้พรมแดน′ รับมือ′ภัยเงียบ′จาก′ประชาคมอาเซียน′





 ให้รู้สึกคึกคักเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการคืบใกล้เข้ามาของ "ประชาคมอาเซียน"

หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เริ่มมีนโยบายในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้แล้ว ดังจะเห็นได้จากการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง คือ "การเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย"

โดยเฉพาะในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากเมื่อเปิดประเทศ จะมีผู้ใช้บริการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจการแพทย์ในอนาคต อย่าง บริการทางไกล เช่น การให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ฯลฯ การรับบริการข้ามแดน เช่น เมดิคัล ฮับ, การข้ามชาติไปลงทุนบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมยา,

การเคลื่อนย้ายแรงงานด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เฉพาะด้าน พยายาบาล นักเทคนิค เป็นต้น

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การแพร่ระบาดมากขึ้นของโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่แฝงมากับการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเปิดรับอาหารและผลิตภัณฑ์ เช่น บุหรี่ สุรา มากขึ้น

จึงจำเป็นที่ภาครัฐ ต้องสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง "โรคไร้พรมแดน" หรือแม้แต่ "โรคอุบัติใหม่" ที่อาจเป็น "ภัยเงียบ" มาพร้อมกับการเปิดประเทศในอนาคตอันใกล้

ในเรื่องนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวว่า ได้ยึดกติกาสากล ข้อตกลงระหว่างประเทศ แผนยุทธศาสตร์ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ได้แก่

1.การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อและภัยสุขภาพระหว่างประเทศ 2.แผนแม่บทประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน 3.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 โดยยึดหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" สร้างสมดุลในการพัฒนา โดยมีการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางในทุกมิติ พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ 4.กรอบยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองทางสังคม และยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคง

และ 5.ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงสาธารณสุข และแผนแม่บทการแก้ปัญหาสาธารณสุขชายแดน พ.ศ.2555-2559 เน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาขีดความสามารถการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ

"สถานการณ์โรคติดต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรคติดต่อหลายโรคที่ยังคงเป็นปัญหา และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ที่ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมาก จนมีการกำหนดให้มี ?วันไข้เลือดออกอาเซียน? ขึ้นเพื่อรณรงค์ป้องกันโรคนี้พร้อมกันทั้งภูมิภาค



"อีกทั้งยังมีโรคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาได้แก่ โรคมือเท้าปาก โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2555 มีเด็กเสียชีวิตหลายสิบราย โรคไข้หวัดนกที่มีการระบาดทั้งในเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มีทั้งคนและสัตว์ที่เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนั้นในบางโรค แม้ว่าผู้ป่วยจะลดน้อยลง แต่มีปัญหาเชื้อดื้อยารุนแรงขึ้นในภูมิภาค เช่น ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยารุนแรง เป็นต้น" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแสดงความเป็นห่วง

ด้านหน่วยงานซึ่งมีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ชี้นำการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน และสุขภาพชุมชนในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค อาเซียน หรืออาจกล่าวได้ว่า เกาะติดข้อมูลเรื่องนี้โดยตรง ก็มีความเป็นห่วงต่อกรณี "โรคไร้พรมแดน" รวมถึง "โรคอุบัติใหม่" ด้วยเช่นกัน

โดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน บอกว่า การแพร่ของโรคจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งนั้นมีมานานแล้ว แต่เมื่อมีการเปิดประเทศจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายขึ้น

ระบบสุขภาพไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโดยรอบอย่าง ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ถือว่าประเทศไทยก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั้งในแง่ของระบบบริการทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขในเชิงควบคุมป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่ได้เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ความเชื่อมโยงในลักษณะของรัฐที่มีดินแดนติดต่อกัน ได้ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ช่วงปีที่ผ่านมา ได้รับการเปิดเผยถึงโรคที่พบว่า...

โรคมาลาเรีย ตามชายแดนพม่า กัมพูชา ลาว, โรคเท้าช้าง ซึ่งจริงๆ ในประเทศไทยอาจหายไปนาน แต่เมื่อมีคนผ่านเข้า-ออกทำให้มีการแพร่ของโรคนี้ได้ง่ายขึ้น, วัณโรค ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการอพยพของคนในประเทศเพื่อนบ้าน, ไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นโรคที่แพร่กระจายติดเชื้อทางไวรัส ก็จะมีการแพร่กระจายมากขึ้น

หรือแม้แต่ โรคเอดส์ ที่มาพร้อมกับบริการและการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น วัยกลางคน และแรงงาน

ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน บอกว่า หลักการจัดการเรื่องสุขภาพ จริงๆแล้วจึงควรใช้หลักการป้องกันพื้นฐาน ทั้งการดูแลเรื่องอาหารการกิน สารปนเปื้อนในอาหาร การป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ ฯลฯ ใช้หลักการเดียวกันทั้งในช่วงที่เปิดแล้วและยังไม่เปิดประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ ต้องดูด้วยว่า การเฝ้าระวังของประเทศต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะได้รู้ว่า เราจะต้องเตรียมรับมือกับโรคอย่างไร เราอาจจะต้องฟังข่าวการติดเชื้อ การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ด้วยไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย

"ต่อมาคือ เมื่อมีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ระบบสาธารณสุขที่ใช้ก็ต้องเหมือนกัน ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างด้าว โดยใช้หลักการพื้นฐานภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพราะถ้าเราดูแลแต่คนของเรา แล้วไม่ดูแลคนอื่น เขาก็อาจจะแพร่เชื้อโรคให้เราได้ เพราะ




ถ้าเราดูแลแต่คนของเรา แล้วไม่ดูแลคนอื่น เขาก็อาจจะแพร่เชื้อโรคให้เราได้ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลคนต่างด้าวด้วย"




พญ.สุพัตรากล่าว

เรื่องสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนวันนี้ไม่ได้มีแค่ปัญหาจากโรคติดเชื้อเท่านั้นที่ต้องเตรียมรับมือ แต่โรคไม่ติดเชื้ออย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องรับให้ดี

"โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่มาในรูปของปัญหายาเสพติด โรคที่มากับคอมพิวเตอร์ ปัญหาสังคม ความรุนแรงต่างๆ ที่ไม่อาจแก้ไขด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงเข้ากับมิติทางสังคมวัฒนธรรม และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย" พญ.สุพัตราทิ้งท้าย

"โรคไร้พรมแดน" จึงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตา และหลายฝ่ายต้องเตรียมหาทางรับมืออย่างรู้เท่าทัน

ในงาน "มติชน เฮลท์แคร์" ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยในปีนี้ก็ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของงาน

ส่วนจะ "สู้" หรือ "รับมือ" กับความเปลี่ยนแปลงที่ (อาจ) จะเกิดขึ้นอย่างไรนั้น

ต้องไม่พลาดงาน "มติชน เฮลท์แคร์ 2013 สู้โรคไร้พรมแดน" ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-2 มิถุนายน นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์



7 โรคไร้พรมแดนที่(อาจ)มากับ′ประชาคมอาเซียน′

เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ประชาชนในภูมิภาคกว่า 600 ล้านคน มีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งการไปมาหาสู่นี่เอง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายของโรคระบาดหรืออุบัติโรคใหม่ที่อาจจะตามมาด้วย

โดยเฉพาะ 7 โรค ที่อยากแนะนำให้รู้จักในส่วนของลักษณะอาการ และสำคัญที่สุดคือ วิธีการป้องกัน

1.ไข้หวัดใหญ่ มีอาการเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป แต่จะเร็วกว่าและมีไข้สูงกว่า โดยอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา ในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ไข้ประมาณ 38 องศา มีอาการคอแดง น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง ในเด็กอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

การป้องกัน โดยการล้างมือให้ถูกวิธี การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และการใช้หน้ากากอนามัย

2.โรคหัด มีอาการเริ่มด้วยการมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะค่อยๆ มากขึ้น โดยอาการไข้จะขึ้นสูงเต็มที่เมื่อผื่นขึ้นในราววันที่ 4 ของการเป็นไข้ มีลักษณะของผื่นนูนแดง maculo-papular ติดกันเป็นปื้นๆ บริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา โดยผื่นในระยะแรกจะมีสีแดงและค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน

3.โรคมาลาเรีย มีอาการหลังการได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่าไข้จับสั่นคือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูงและตามด้วยเหงื่อออก จะพบได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

การป้องกัน ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ทายากันยุง นอนในมุ้ง หรือพ่นยากันยุง

4.โรคไข้เลือดออก ในการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) จะไม่แสดงอาการ ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยที่เชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรกอาจเป็นไข้เลือดออก อาการสำคัญแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ 1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุด เลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน, 2.ระยะช็อก ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง และ 3.ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

การป้องกัน โดยป้องกันไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้ง หรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบๆ บ้าน

5.โรควัณโรค อาการที่พบได้บ่อยคือ มีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขั้วปอด ที่คอ และที่อื่นๆ แล้วจึงพบผิดปกติที่ปอดและอวัยวะอื่นๆ

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ หรือให้วัคซีน BCG ป้องกัน

6.โรคเท้าช้าง อาการในระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะ เนื่องจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน รวมทั้งมีการปล่อยสารพิษออกมาด้วย อาการอักเสบจะเป็นๆ หายๆ อยู่เช่นนี้ และจะกระตุ้นให้เกิดอาการบวมขึ้น หากเป็นนานหลายปีจะทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวรและผิวหนังหนาแข็งขึ้นจนมีลักษณะขรุขระ

การป้องกัน ควรป้องกันและหลีกเลี่ยงยุงที่เป็นพาหะ ควบคุมและกำจัดยุงโดยการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน หรือหากอยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้าง อาจต้องกินยาป้องกัน

7.โรคคอตีบ อาการหลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้องเจ็บคอ เบื่ออาหาร บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองโตที่คอด้วย จะพบมีอาการอักเสบในจมูก ทำให้มีน้ำมูกเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น

การป้องกัน ควรแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน และในเด็กทั่วไปควรฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ขวบ

นับเป็น 7 โรคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับประชากรในภูมิภาคอาเซียน

เป็นโรคไร้พรมแดนที่ควร "กันไว้ดีกว่าแก้"

โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจ  มติชน 10 พ.ค. 2556

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระราชินีทรงพระราชทานคำขวัญวันแม่

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานคำขวัญวันแม่ปี 56
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2556 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2556 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า
"คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันแม่แห่งชาติ



12 สิหาคม 2556 วันแม่แห่ชาติ




น้ำพระทัย แม่ของแผ่นดิน หลายต่อหลายข่าวที่มีการลอบทำร้ายผู้บริสุทธิ์จากผู้ก่อการร้าย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่างเป้นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง และจากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องคุณครูกอบกุล รัญเสวะ อายุ ๔๗ ปี ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านตือกอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ได้ จบชีวิตลงด้วยการรอบทำร้ายของผู้ก่อการร้ายในภาคใต้ ได้ ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรอยู่แล้ว ได้ พระราชทานพวงหรีดและมีพระราชหัตเลขาทรงยกย่องว่าเป็นครูยอดกตัญญู โดยมีใจความว่า

“ วังไกลกังวล หัวหิน
วันที่ 26 มิถุนายน 2548
ถึงคุณแฉล้ม รัญเสวะ คุณแม่ของคุณครูกอบกุลฯ ผู้กล้าหาญ

ข้าพเจ้าได้ ทราบข่าวจากหนังสือพิมพิ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2548 ว่า นางสาวกอบกุล รัญเสวะ อายุ 47 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตือกอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นบุตรสาวของคุณแฉล้ม รัญเสวะ อยู่บ้านเลขที่ 251 อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ถูกยิงด้วยปืนขนาด 11 มิลลิเมตร ที่กลางหลัง 2 นัด และที่แขนขวาอีก 2 นัด นอนเสียชีวิตจมกองเลือดอยู่กลางถนน ระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์กลับไปบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียน 7 กิโลเมตร ในตอนพักกลางวันเพื่อป้อนข้าวคุณแม่ซึ่งเป็นอัมพาต เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2548 ข้าพเจ้าได้ ทราบข่าวนี้ด้วยความสลดใจ และขอแสดงความเสียใจกับคุณแฉล้ม รัญเสวะ ที่ต้องสูญเสียบุตรสาวในคราวนี้ด้วย คุณครูกอบกุลฯ เป็นบุคคลที่สมควรได้ รับการยกย่อง เป็นแบบอย่างของครูที่ดี มีความกตัญญูต่อคุณแม่ผู้มีพระคุณ แต่ต้องมาถูกคนร้ายลอบสังหารอย่างทารุณ โดยไม่มีหนทางต่อสู้ คุณครูกอบกุลฯ เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นว่า ตนเองเป็นครูสตรี สร้างแต่คุณงามความดี ในการทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็ก ไม่เคยคิดร้ายต่อผู้ใด คงจะไม่มีใครมาทำร้าย แต่เหตุการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ก่อการร้ายไม่เคยคำนึงถึงคุณงามความดีของบุคคลที่ทำงานเสียสละเพื่อสังคม เห็นชีวิตผู้บริสุทธิ์เหมือนผักปลาจะฆ่าเสียเมื่อไหร่ก็ได้

ข้าพเจ้าทราบดีว่า ครูที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ ทำงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา เพื่อที่จะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กๆ ให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ การจากไปของคุณครูกอบกุล รัญเสวะ ครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของครอบครัวคุณแฉล้ม รัญเสวะ

ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมา ณ โอกาสนี้ และขอแจ้งให้ทราบว่า ถ้าแม้นมีสิ่งใดที่ข้าพเจ้าจะพอให้การช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคุณแฉล้ม เป็นการตอบแทนคุณงามความดีของคุณครูกอบกุลฯ ได้ บ้าง ก็ขอให้บอกไปให้ทราบ ข้าพเจ้าพร้อมจะให้การช่วยเหลือตลอดเวลา” ลงพระนามาภิไธย “สิริกิติ์”

ซึ่งในทุกๆวันเธอจะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านในช่วงพักกลางวันเพื่อไปป้อนข้าวแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต ซึ่งเป็นกิจวัตรที่เธอปฏิบัติเป็นประจำ แต่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 เวลา 11.00 น. ขณะที่คุณครูกอบกุล ได้ กลับบ้านเพื่อป้อนข้าวให้แม่ซึ่งกำลังนอนรอเธออยู่นั้น ระหว่างทางเธอได้ ถูกโจรก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลอบสังหารอย่างอัมหิตแต่ความดีที่เธอได้ ทำไม่สูญเปล่า

คุณครูกอบกุล ไม่ใช่ครูคนแรก และไม่ใช่ครูคนแรกและไม่ใช่ผู้อำนวยการสถานศึกษาคนแรกที่ต้องเสียชีวิตเซ่นสังเวยความไร้สติ ยั้งคิดและขาดมนุษยธรรมของผู้ก่อการร้ายที่อ้างศาสนาทำลายล้างชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถได้ มีพระราชดำรัสต่อหน้าคณะบุคคล ประกอบด้วยคณะลูกเสือชาวบ้าน สมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ สมาชิกราษฎร อาสาพัฒนาป้องกันตนเอง สมาชิกกองหนุนรักษาความมั่นคงของชาติ สมาชิกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า สมาชิกอาสารักษาหมู่บ้าน ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ตอนหนึ่งว่า

“พวกเราคนไทยทั้งหลาย พลังทั้งหลายเหล่านี้ช่วยกันรักษากฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์ได้ โดยไม่ต้องถืออาวุธอะไรเลย เพื่อจะนำความสงบสุขคืนมาสู้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ช่วยให้พี่น้องคนไทยผู้บริสุทธิ์ ได้ ประกอบสัมมาอาชีพ และมีชีวิตอยู่ในผื่นดินเกิดอย่างปลอดภัย

ถ้าทุกคนสามารถทำได้ เช่นนี้ รวมใจกัน รวมใจรวมหัวคิด รวมพลังกัน ประณามออกไปว่าการกรำทำเช่นนี้เป้นการกระทำที่เราอยู่เฉยไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่เป้นผลร้ายอย่างยอดเยี่ยม ผลร้ายอย่าสาหัสแก่ประเทศชาติของเรา ซึ่งพวกท่านทั้งหลายได้ สาบานไว้แล้วว่าจะปกป้องประเทศชาติ ผลร้ายอย่างสาหัสแก่ประเทศชาติของเรา ซึ่งพวกท่านทั้งหลายได้ สาบายไว้แล้วว่าจะปกป้องประเทศชาติ ถ้าทุกคนทได้ เช่นนี้ทุกหมู่บ้านก็จะอุ่นใจ เพราะเราต่างดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ข้าพเจ้าหวังให้ประเทศชาติของเรากลับเป็นดินแดนแห่งความสงบสุข และมีรอยยิ้มเหมือนแต่เก่าก่อน...”

ความสูญเสีย ความพลัดพราก จากสิ่งที่รัก ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์โศกโดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ที่ลูกต้องกลายเป้นเหลื่อ และเสียชีวิตสังเวยความอำมหิตของพวกที่มีจิตใจเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ แต่ความทุกข์จากความสูญเสียของแต่ละครอบครัวคงไม่สามารถเทียบได้ แม้เพียงเศษเสี้ยวความทุกข์พระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไม่ว่าจะเป็น ไทยพุทธ ไทยมุสลิม หรือคนไทยที่นับถือศัรัทธาเลื่อมใสในศาสนาใด แต่ที่แน่ๆ ทุกคนคือคนไทย คือลูกของแผ่นดินไทย

ที่มา:หนังสือ พระราชินีของเรา เรื่องเล่าจากแผ่นดินใต้ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2548

...................................................................................................................................................................


กิจกรรมวันแม่ของชุมชนบ้านเขาน้ำซับ วันที่ 12 สิงหาคม 2556

คณะกรรมการชุมชนบ้านเขาน้ำซับและพี่น้องประชาชนบ้านเขาน้ำซับจะร่วมกันพัฒนาทำความสะอาดถางหญ้าเก็บขยะมูลฝอยคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันการเกิดของยุงลายตามถนนทุกซอยในชุมชนบ้านเขาน้ำซับและจัดทำป้ายพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดตั้งตามแยกต่างๆจำนวน 6 จุดรอบๆชุมชน