ยินดีต้อนรับสู่เว๊ปไซท์ชุมชนบ้านเขาน้ำซับ ทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเว๊ปไซท์นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมและผู้ที่ติดตามข่าวสารของชุมชนหากมีข้อติชมหรือต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขโปรดติดต่อทีมงาน....ขอขอบคุณทุกๆท่าน

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รู้ทัน′โรคไร้พรมแดน′ รับมือ′ภัยเงียบ′จาก′ประชาคมอาเซียน′





 ให้รู้สึกคึกคักเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการคืบใกล้เข้ามาของ "ประชาคมอาเซียน"

หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เริ่มมีนโยบายในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้แล้ว ดังจะเห็นได้จากการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง คือ "การเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย"

โดยเฉพาะในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากเมื่อเปิดประเทศ จะมีผู้ใช้บริการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจการแพทย์ในอนาคต อย่าง บริการทางไกล เช่น การให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ฯลฯ การรับบริการข้ามแดน เช่น เมดิคัล ฮับ, การข้ามชาติไปลงทุนบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมยา,

การเคลื่อนย้ายแรงงานด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เฉพาะด้าน พยายาบาล นักเทคนิค เป็นต้น

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การแพร่ระบาดมากขึ้นของโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่แฝงมากับการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเปิดรับอาหารและผลิตภัณฑ์ เช่น บุหรี่ สุรา มากขึ้น

จึงจำเป็นที่ภาครัฐ ต้องสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง "โรคไร้พรมแดน" หรือแม้แต่ "โรคอุบัติใหม่" ที่อาจเป็น "ภัยเงียบ" มาพร้อมกับการเปิดประเทศในอนาคตอันใกล้

ในเรื่องนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวว่า ได้ยึดกติกาสากล ข้อตกลงระหว่างประเทศ แผนยุทธศาสตร์ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ได้แก่

1.การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อและภัยสุขภาพระหว่างประเทศ 2.แผนแม่บทประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน 3.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 โดยยึดหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" สร้างสมดุลในการพัฒนา โดยมีการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางในทุกมิติ พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ 4.กรอบยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองทางสังคม และยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคง

และ 5.ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงสาธารณสุข และแผนแม่บทการแก้ปัญหาสาธารณสุขชายแดน พ.ศ.2555-2559 เน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาขีดความสามารถการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ

"สถานการณ์โรคติดต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรคติดต่อหลายโรคที่ยังคงเป็นปัญหา และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ที่ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมาก จนมีการกำหนดให้มี ?วันไข้เลือดออกอาเซียน? ขึ้นเพื่อรณรงค์ป้องกันโรคนี้พร้อมกันทั้งภูมิภาค



"อีกทั้งยังมีโรคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาได้แก่ โรคมือเท้าปาก โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2555 มีเด็กเสียชีวิตหลายสิบราย โรคไข้หวัดนกที่มีการระบาดทั้งในเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มีทั้งคนและสัตว์ที่เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนั้นในบางโรค แม้ว่าผู้ป่วยจะลดน้อยลง แต่มีปัญหาเชื้อดื้อยารุนแรงขึ้นในภูมิภาค เช่น ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยารุนแรง เป็นต้น" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแสดงความเป็นห่วง

ด้านหน่วยงานซึ่งมีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ชี้นำการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน และสุขภาพชุมชนในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค อาเซียน หรืออาจกล่าวได้ว่า เกาะติดข้อมูลเรื่องนี้โดยตรง ก็มีความเป็นห่วงต่อกรณี "โรคไร้พรมแดน" รวมถึง "โรคอุบัติใหม่" ด้วยเช่นกัน

โดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน บอกว่า การแพร่ของโรคจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งนั้นมีมานานแล้ว แต่เมื่อมีการเปิดประเทศจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายขึ้น

ระบบสุขภาพไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโดยรอบอย่าง ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ถือว่าประเทศไทยก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั้งในแง่ของระบบบริการทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขในเชิงควบคุมป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่ได้เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ความเชื่อมโยงในลักษณะของรัฐที่มีดินแดนติดต่อกัน ได้ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ช่วงปีที่ผ่านมา ได้รับการเปิดเผยถึงโรคที่พบว่า...

โรคมาลาเรีย ตามชายแดนพม่า กัมพูชา ลาว, โรคเท้าช้าง ซึ่งจริงๆ ในประเทศไทยอาจหายไปนาน แต่เมื่อมีคนผ่านเข้า-ออกทำให้มีการแพร่ของโรคนี้ได้ง่ายขึ้น, วัณโรค ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการอพยพของคนในประเทศเพื่อนบ้าน, ไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นโรคที่แพร่กระจายติดเชื้อทางไวรัส ก็จะมีการแพร่กระจายมากขึ้น

หรือแม้แต่ โรคเอดส์ ที่มาพร้อมกับบริการและการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น วัยกลางคน และแรงงาน

ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน บอกว่า หลักการจัดการเรื่องสุขภาพ จริงๆแล้วจึงควรใช้หลักการป้องกันพื้นฐาน ทั้งการดูแลเรื่องอาหารการกิน สารปนเปื้อนในอาหาร การป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ ฯลฯ ใช้หลักการเดียวกันทั้งในช่วงที่เปิดแล้วและยังไม่เปิดประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ ต้องดูด้วยว่า การเฝ้าระวังของประเทศต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะได้รู้ว่า เราจะต้องเตรียมรับมือกับโรคอย่างไร เราอาจจะต้องฟังข่าวการติดเชื้อ การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ด้วยไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย

"ต่อมาคือ เมื่อมีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ระบบสาธารณสุขที่ใช้ก็ต้องเหมือนกัน ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างด้าว โดยใช้หลักการพื้นฐานภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพราะถ้าเราดูแลแต่คนของเรา แล้วไม่ดูแลคนอื่น เขาก็อาจจะแพร่เชื้อโรคให้เราได้ เพราะ




ถ้าเราดูแลแต่คนของเรา แล้วไม่ดูแลคนอื่น เขาก็อาจจะแพร่เชื้อโรคให้เราได้ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลคนต่างด้าวด้วย"




พญ.สุพัตรากล่าว

เรื่องสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนวันนี้ไม่ได้มีแค่ปัญหาจากโรคติดเชื้อเท่านั้นที่ต้องเตรียมรับมือ แต่โรคไม่ติดเชื้ออย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องรับให้ดี

"โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่มาในรูปของปัญหายาเสพติด โรคที่มากับคอมพิวเตอร์ ปัญหาสังคม ความรุนแรงต่างๆ ที่ไม่อาจแก้ไขด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงเข้ากับมิติทางสังคมวัฒนธรรม และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย" พญ.สุพัตราทิ้งท้าย

"โรคไร้พรมแดน" จึงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตา และหลายฝ่ายต้องเตรียมหาทางรับมืออย่างรู้เท่าทัน

ในงาน "มติชน เฮลท์แคร์" ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยในปีนี้ก็ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของงาน

ส่วนจะ "สู้" หรือ "รับมือ" กับความเปลี่ยนแปลงที่ (อาจ) จะเกิดขึ้นอย่างไรนั้น

ต้องไม่พลาดงาน "มติชน เฮลท์แคร์ 2013 สู้โรคไร้พรมแดน" ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-2 มิถุนายน นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์



7 โรคไร้พรมแดนที่(อาจ)มากับ′ประชาคมอาเซียน′

เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ประชาชนในภูมิภาคกว่า 600 ล้านคน มีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งการไปมาหาสู่นี่เอง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายของโรคระบาดหรืออุบัติโรคใหม่ที่อาจจะตามมาด้วย

โดยเฉพาะ 7 โรค ที่อยากแนะนำให้รู้จักในส่วนของลักษณะอาการ และสำคัญที่สุดคือ วิธีการป้องกัน

1.ไข้หวัดใหญ่ มีอาการเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป แต่จะเร็วกว่าและมีไข้สูงกว่า โดยอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา ในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ไข้ประมาณ 38 องศา มีอาการคอแดง น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง ในเด็กอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

การป้องกัน โดยการล้างมือให้ถูกวิธี การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และการใช้หน้ากากอนามัย

2.โรคหัด มีอาการเริ่มด้วยการมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะค่อยๆ มากขึ้น โดยอาการไข้จะขึ้นสูงเต็มที่เมื่อผื่นขึ้นในราววันที่ 4 ของการเป็นไข้ มีลักษณะของผื่นนูนแดง maculo-papular ติดกันเป็นปื้นๆ บริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา โดยผื่นในระยะแรกจะมีสีแดงและค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน

3.โรคมาลาเรีย มีอาการหลังการได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่าไข้จับสั่นคือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูงและตามด้วยเหงื่อออก จะพบได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

การป้องกัน ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ทายากันยุง นอนในมุ้ง หรือพ่นยากันยุง

4.โรคไข้เลือดออก ในการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) จะไม่แสดงอาการ ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยที่เชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรกอาจเป็นไข้เลือดออก อาการสำคัญแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ 1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุด เลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน, 2.ระยะช็อก ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง และ 3.ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

การป้องกัน โดยป้องกันไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้ง หรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบๆ บ้าน

5.โรควัณโรค อาการที่พบได้บ่อยคือ มีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขั้วปอด ที่คอ และที่อื่นๆ แล้วจึงพบผิดปกติที่ปอดและอวัยวะอื่นๆ

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ หรือให้วัคซีน BCG ป้องกัน

6.โรคเท้าช้าง อาการในระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะ เนื่องจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน รวมทั้งมีการปล่อยสารพิษออกมาด้วย อาการอักเสบจะเป็นๆ หายๆ อยู่เช่นนี้ และจะกระตุ้นให้เกิดอาการบวมขึ้น หากเป็นนานหลายปีจะทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวรและผิวหนังหนาแข็งขึ้นจนมีลักษณะขรุขระ

การป้องกัน ควรป้องกันและหลีกเลี่ยงยุงที่เป็นพาหะ ควบคุมและกำจัดยุงโดยการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน หรือหากอยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้าง อาจต้องกินยาป้องกัน

7.โรคคอตีบ อาการหลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้องเจ็บคอ เบื่ออาหาร บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองโตที่คอด้วย จะพบมีอาการอักเสบในจมูก ทำให้มีน้ำมูกเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น

การป้องกัน ควรแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน และในเด็กทั่วไปควรฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ขวบ

นับเป็น 7 โรคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับประชากรในภูมิภาคอาเซียน

เป็นโรคไร้พรมแดนที่ควร "กันไว้ดีกว่าแก้"

โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจ  มติชน 10 พ.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น